• 07
  • Mar
7 วิธีการดูแลเครื่องปั่นเหวี่ยงอย่างถูกต้อง

7 วิธีการดูแลเครื่องปั่นเหวี่ยงอย่างถูกต้อง

         การใช้งานเครื่องมือแพทย์ประเภทเครื่องปั่นเหวี่ยงนั้น ต้องการ การทำงานของเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของการวิเคราะห์ผลตามคู่มือการใช้งาน ดังนั้นการบำรุงดูแลรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยทำให้เครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องปั่นเหวี่ยงนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น มีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีอยู่เสมอ รวมไปถึงสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่ามีอุปกรณ์ชิ้นใดที่เริ่มมีอาการผิดปกติและจะได้ทำการวางแผนการซ่อมแซมต่อไป สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลเครื่องปั่นเหวี่ยงมีดังต่อไปนี้
  1. ทำการสอบเทียบมาตรฐานของระบบปฏิบัติการ(Calibration) เริ่มตั้งแต่การตรวจวัดมาตรฐานของรอบหมุนว่าเป็นไปตามที่ระบบเครื่องแสดงผลไว้หรือไม่ ทำได้ด้วยการเทียบกับเครื่องวัดความเร็วรอบจากภายนอกที่ได้มาตรฐาน โดยความผิดพลาดนั้นอาจมีได้ไม่เกินร้อยละ 5 หากสูงกว่านั้น ต้องทำการปรับแต่งวงจรควบคุมความเร็วของตัวเครื่องมือแพทย์ให้อยู่ภายในมาตรฐานที่กำหนด
  2. สอบเทียบความถูกต้องของส่วนควบคุมเวลา(Timer) โดยทำการสอบเทียบกับนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูง ทำการจับเวลาและเปรียบเทียบว่าใกล้เคียงกันในระดับความคลาดเคลื่อนไม่เกินรอยละ 10 หากเกินกว่ามาตรฐานก็จำเป็นต้องปรับแต่งวงจรควบคุมเช่นกัน หรือหากไม่ทันการใช้งานเครื่องมือแพทย์ก็สามารถใช้การชดเชยจากความผิดพลาดที่หาได้ไปก่อน แต่ก็ควรทำการปรับแต่งระบบโดยไว เพื่อให้เครื่องมือมีความเป็นมาตรฐานเช่นเดิม
  3. สอบเทียบความถูกต้องของเซ็นเซอร์ตรวจสอบอุณหภูมิ ด้วยการใช้เทอร์โมมิเตอร์ซึ่งควรจะได้ค่าตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน หรือมีความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 10 หากเกินกว่านั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนเซ็นเซอร์อุณหภูมิให้เรียบร้อย
  4. ตรวจสอบและดูแลระบบหัวเหวี่ยงด้วยการหล่อลื่นตลับลูกปืนของมอเตอร์ เปลี่ยนแปรงถ่านทุกครึ่งปีหรือ 1 ปีหากไม่ได้ใช้งานมาก หากไม่เปลี่ยนอาจเกิดปัญหาแปรงถ่านหมดในขณะกำลังเดินเครื่องทำให้การวิเคราะห์ไม่สามารถทำต่อไปได้
  5. ตรวจสอบระบบสายไฟว่ายังคงเป็นปกติดี หรือมีสายเส้นใดเกิดการสึกหรอ ขาด ไหม้ หากตรวจพบต้องรีบทำการเปลี่ยนทันที
  6. ทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน หรือฝุ่นละอองที่เกาะอยู่บนอุปกรณ์ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำกลั่น(DI-water)  หากพบเศษสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ภายในตัวเครื่องให้ทำการคีบออกก่อนทำความสะอาดด้วย และทุกครั้งหลังการใช้งานให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะหากตัวอย่างที่นำมาตรวจนั้นมาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  7. เก็บรักษาหัวเหวี่ยงที่ไม่ได้ใช้งานหรือหัวเหวี่ยงสำรองไว้ในที่แห้ง เพื่อยืดอายุการใช้งานไว้ให้นานที่สุด
         การทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ทุกครั้งควรใส่อุปกรณ์ป้องกันให้มิดชิดทั้งถุงมือยาง หน้ากากหรือชุดปฏิบัติการ นอกจากจะช่วยในเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้แล้วยังช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจเกิดจากการสัมผัสด้วยมือเปล่าได้อีกด้วย