• 23
  • Mar
สัญญาณเตือนว่าเครื่องปั่นเหวี่ยงเริ่มมีปัญหา

สัญญาณเตือนว่าเครื่องปั่นเหวี่ยงเริ่มมีปัญหา

สัญญาณเตือนว่าเครื่องปั่นเหวี่ยงเริ่มมีปัญหา
                การใช้งานเครื่องมือแพทย์อย่างเครื่องปั่นเหวี่ยงนั้น หากผู้ใช้หมั่นสังเกตอาการของเครื่องจะพบถึงความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ทันที ซึ่งเมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุแล้วทำการแก้ไขไว้แต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยให้เครื่องมือแพทย์นั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางกรณีหากทิ้งไว้นานปัญหาเหล่านั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถซ่อมแซมได้เลยทีเดียว
                ปัญหาที่มักเกิดกับเครื่องปั่นเหวี่ยงก็คือ หลอดปั่นแตกในขณะที่กำลังทำงานซึ่งสารละลายภายในหลอดนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับเครื่องมือแพทย์โดยตรง หรืออาจเกิดความเสียหายกับระบบการดำเนินการก็ได้ หรือกรณีของแปรงถ่านที่ไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นเวลานาน แล้วยังคงใช้งานอยู่เสมอเมื่อแปรงถ่านหมด จะทำให้สปริงถ่านดันไปสัมผัสกับคอมมิวเตเตอร์จนเป็นเหตุให้เกิดการลัดวงจรซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับทั้งเครื่องเลยทีเดียว และอีกหลายกรณีที่อาจเกิดความผิดปกติได้ โดยคุณสามารถสังเกตอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

  1. มีเสียงดังขณะทำงาน กรณีเช่นนี้อาจเนื่องมาจากมอเตอร์มีความผิดปกติเช่นแกนคด ยางรองกันเสียงเสื่อมหรือฉีกขาด ปิดฝาเครื่องปั่นเหวี่ยงไม่สนิท ลูกปืนมอเตอร์ฝืดหรือแตก อย่างนี้เป็นต้น
  2. เบรกไม่ทำงาน อาจเนื่องมาจากความสกปรกของหน้าสัมผัสแปรง แปรงถ่านหมด หรือสายไฟในระบบหลุดหรือหลวม
  3. มอเตอร์ไม่หมุน ลองตรวจสอบจากง่ายไปยากก่อนเช่นเสียบปลั๊กหรือยัง หากเสียบแล้วมีไฟเข้าหรือไม่ โดยสังเกตจากไฟระบบ หากไม่เข้าอาจฟิวส์ขาด หากไฟเข้าอาจมาจากแปรงถ่านหมด หน้าสัมผัสแปรงถ่านสกปรก ลูกปืนมอเตอร์แตก หากไม่ใช่ให้ลองตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องมือแพทย์ เช่นส่วนตั้งเวลา ส่วนควบคุมความเร็ว ที่อาจมีการตั้งค่าที่ผิดหรือมีการทำงานที่ผิดปกติ
  4. มอเตอร์หมุนผิดปกติ อาจเกิดจากความสกปรกของหน้าสัมผัสแปรงถ่าน เกิดการลัดวงจรภายในเนื่องจากสายไฟเสื่อม หรือชำรุด แรงดันไฟฟ้าตก หากทุกอย่างยังคงปกติดีแสดงว่ามอเตอร์เริ่มจะเสียแล้ว
  5. หลอดปั่นแตกบ่อย ให้ตรวจสอบการติดตั้งหลอดปั่นว่าติดตั้งไว้อย่างสมดุลดีหรือไม่ ยางรองกันแตกยังมีอยู่ที่ส่วนท้ายของช่องใส่หลอดปั่นหรือไม่ อาจมีเศษแก้วที่แตกหรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ที่ส่วนท้ายของช่องใส่หลอดปั่น ใส่หลอดปั่นขนาดไม่เหมาะสมกับช่อง โดยไม่มีการใช้ยางรองปรับขนาดซึ่งอาจทำให้ปลายหลอดปั่นกระทบกันเอง หรือกระแทกกับฝาปิดได้ หากทุกอย่างปกติให้ลองลดความเร็วในการปั่นเหวี่ยงดู อาจเนื่องมาจากการใช้ความเร็วในการปั่นสูงเกินไปก็เป็นได้
              นอกจากการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ที่ถูกวิธีแล้ว การสังเกตอาการผิดปกติแล้วรีบทำการแก้ไขตามสาเหตุก็เป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องปั่นเหวี่ยงให้นานขึ้นได้อีกด้วย